Translate

04 ตุลาคม 2567

พระไตรปิฎก พระวินัยปิฎก เล่ม ๓ ภิกขุนีวิภังค์ สัตตรสกัณฑ์ สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๒ เรื่องชายาเจ้าลิจฉวีกับภิกษุณีถุลลนันทา

     [๓๕] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. 
    ครั้งนั้น ชายาของเจ้าลิจฉวีองค์หนึ่งในพระนครเวสาลีประพฤตินอกใจ. จึงเจ้าลิจฉวีองค์นั้นรับสั่งกะนางว่าเจ้างดเว้นได้เป็นการดี เราจักทำความพินาศให้แก่เจ้า. แม้นางถูกว่ากล่าวอย่างนี้ก็ไม่เชื่อฟัง.
    ก็สมัยนั้นแล คณะเจ้าลิจฉวีแห่งพระนครเวสาลีกำลังประชุมกันด้วยกรณียะบางอย่าง. จึงเจ้าลิจฉวีองค์นั้นได้กล่าวกะเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นว่า ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ขอจงโปรดอนุญาตสตรีผู้หนึ่งให้แก่ข้าพเจ้า.
คณะถามว่า สตรีผู้นั้นคือใคร?
    เจ้าชายสามีของนางตอบว่า คือ ภรรยาของข้าพเจ้า ประพฤตินอกใจ ข้าพเจ้าจักฆ่านาง.
คณะกล่าวว่า จงเข้าใจเอาเอง รู้เอาเองเถิด.
    สตรีผู้นั้นทราบข่าวว่า สามีใคร่จักฆ่าเรา จึงเก็บสิ่งของที่ดีๆ หนีไปยังพระนครสาวัตถี เข้าหาเหล่าเดียรถีย์ขอบวช พวกเดียรถีย์ไม่ปรารถนาจะให้นางบวช นางจึงเข้าไป
    หาภิกษุณี ขอบวช แม้ภิกษุณีทั้งหลายก็ไม่ปรารถนาจะให้นางบวช จึงเข้าไปหาภิกษุณีถุลลนันทา แสดงห่อของแล้วขอบวช ภิกษุณีถุลลนันทารับห่อของ แล้วให้นางบวช.
     ครั้นเจ้าลิจฉวีนั้นทรงสืบหาสตรีนั้นไปถึงพระนครสาวัตถี พบนางบวชอยู่ในสำนักภิกษุณีจึงเข้าเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า ขอเดชะ ชายาของหม่อมฉันลักของมีค่ามาสู่พระนครสาวัตถี ขอพระองค์จงทรงอนุญาตชายาของหม่อมฉันผู้นั้นเถิด พระพุทธเจ้าข้า.
  พระราชารับสั่งว่า พนาย ถ้าเช่นนั้น เชิญท่านค้นหา พบแล้วมาบอก.
    เจ้าลิจฉวีกราบทูลว่า หม่อมฉันเห็นนางบวชอยู่ในสำนักภิกษุณี พระพุทธเจ้าข้า.
    พระราชาตรัสว่า ถ้านางบวชอยู่ในสำนักภิกษุณี เราก็ทำอะไรนางไม่ได้ เพราะพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ขอนางจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด.
    จึงเจ้าลิจฉวีนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนเหล่าภิกษุณีจึงได้ให้หญิงโจรบวชเล่า.
    ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินเจ้าลิจฉวีนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึงได้ให้หญิงโจรบวชเล่า แล้วแจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย.
ทรงสอบถาม    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุณีถุลลนันทาให้หญิงโจรบวชหรือ จริงหรือ?
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
    พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา จึงได้ให้หญิงโจรบวชเล่า การกระทำของนางนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
   ก็แลภิกษุณีทั้งหลาย จงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระบัญญัติ     ๑๐. ๒. อนึ่ง ภิกษุณีใด รู้อยู่ว่าหญิงเป็นโจร ผู้ปรากฏ เป็นนักโทษประหาร ไม่บอกกล่าวพระราชา หมู่ คณะ นายหมวดหรือนายกอง รับให้บวช เว้นแต่บวชมาแล้ว ภิกษุณีแม้นี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสส ชื่อนิสสารณียะ มีอันให้ต้องอาบัติขณะแรกทำ. เรื่องชายาเจ้าลิจฉวีกับภิกษุณีถุลลนันทา จบ.
สิกขาบทวิภังค์
    [๓๖] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด
    บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้. ชื่อว่า ภิกษุณีที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
    ที่ชื่อว่า รู้ คือ รู้เองก็ตาม คนอื่นบอกแก่นางก็ตาม เจ้าตัวบอกก็ตาม.
    ที่ชื่อว่า โจร ความว่า สตรีใดถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้ อันเป็นส่วนขโมย ได้ราคาห้ามาสกก็ดี เกินกว่าห้ามาสกก็ดี สตรีนั้นชื่อว่าเป็นโจร.
      ที่ชื่อว่า ถูกประหาร ได้แก่ ผู้ทำกรรมถึงถูกฆ่า.
   ที่ชื่อว่า ผู้ปรากฏ คือ ผู้ที่คนอื่นรู้กันแล้วว่า นางนี้จะต้องถูกประหาร.
    บทว่า ไม่บอกกล่าว คือ ไม่ขออนุญาต.
    ที่ชื่อว่า พระราชา ความว่า พระราชาทรงปกครองในถิ่นใด ต้องขอพระบรมราชานุญาตในถิ่นนั้น.
    ที่ชื่อว่า หมู่ ตรัสหมายหมู่ภิกษุณี ต้องบอกหมู่ภิกษุณี.
     ที่ชื่อว่า คณะ ความว่า คณะปกครองในถิ่นใด ต้องบอกคณะในถิ่นนั้น.
     ที่ชื่อว่า นายหมวด ความว่า นายหมวดปกครองในถิ่นใด ต้องบอกนายหมวดในถิ่นนั้น.
     ที่ชื่อว่า นายกอง ความว่า นายกองปกครองในถิ่นใด ต้องบอกนายกองในถิ่นนั้น.
     บทว่า เว้นแต่บวชมาแล้ว ความว่า เว้นสตรีที่บวชมาแล้ว.
    ที่ชื่อว่า บวชมาแล้ว มีสอง คือ บวชมาแล้วในสำนักเดียรถีย์ ๑ บวชมาแล้วในสำนัก ภิกษุณีเหล่าอื่น ๑.
    เว้นแต่สตรีที่บวชมาแล้ว ภิกษุณีรับว่าจักให้บวช แล้วแสวงหาคณะก็ดี อาจารินีก็ดี บาตรก็ดี จีวรก็ดี หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจาสองครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย จบกรรมวาจาครั้งสุด อุปัชฌายา ต้องอาบัติสังฆาทิเสส คณะและอาจารินี ต้องอาบัติทุกกฏ.
    [๓๗] บทว่า ภิกษุณีแม้นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อนๆ
    บทว่า มีอันให้ต้องอาบัติขณะแรกทำ คือ ต้องอาบัติพร้อมกับล่วงวัตถุโดยไม่ต้องสวด สมนุภาส.
     ที่ชื่อว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ขับออกจากหมู่.
     บทว่า สังฆาทิเสส ความว่า สังฆ์เท่านั้น ให้มานัตเพื่ออาบัตินั้น ... แม้เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า สังฆาทิเสส. บทภาชนีย์
    [๓๘] หญิงโจร ภิกษุณีสำคัญว่าหญิงโจร รับให้บวช เว้นแต่บวชมาแล้ว ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.
    หญิงโจร ภิกษุณีสงสัย รับให้บวช เว้นแต่บวชมาแล้ว ต้องอาบัติทุกกฏ.
     หญิงโจร ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่หญิงโจร รับให้บวช เว้นแต่บวชมาแล้ว ไม่ต้องอาบัติ.
     ไม่ใช่หญิงโจร ภิกษุณีสำคัญว่าหญิงโจร รับให้บวช เว้นแต่บวชมาแล้ว ต้องอาบัติทุกกฏ.
     ไม่ใช่หญิงโจร ภิกษุณีสงสัย รับให้บวช เว้นแต่บวชมาแล้ว ต้องอาบัติทุกกฏ.
    ไม่ใช่หญิงโจร ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่หญิงโจร รับให้บวช เว้นแต่บวชมาแล้ว ไม่ต้องอาบัติ.
อนาปัตติวาร
    [๓๙] ไม่รู้ รับให้บวช ๑ ขออนุญาตแล้ว รับให้บวช ๑ บวชมาในฝ่ายอื่นแล้ว รับให้อยู่ในสำนัก ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้องอาบัติแล. สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๒ จบ.
อรรถกถา ภิกขุนีวิภังค์ สัตตรสกัณฑ์ สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๒
 ในสิกขาบทที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :- 
              แก้อรรถบางปาฐะ เรื่องภิกษุณีให้บวชหญิงโจร
     บทว่า วรภณฺฑํ ได้แก่ ภัณฑะที่มีค่ามาก เช่น แก้วมุกดา แก้วมณีและแก้วไพฑูรย์เป็นต้น.
บทว่า อปโลเกตฺวา แปลว่า ไม่บอกกล่าว.
     บทว่า คณํ วา ได้แก่ คณะ มีมัลลคณะและภัททปุตตคณะ๑- เป็นต้น.
บทว่า ปูคํ ได้แก่ ธรรมคณะ.๒-
     บทว่า เสนึ ได้แก่ หมู่ชนผู้เป็นช่างทำของหอมและหมู่ชนผู้เป็นช่างหูกเป็นต้น.
    จริงอยู่ พระราชาทั้งหลายย่อมพระราชทานมอบบ้านและนิคมแก่หมู่ชนมีคณะเป็นต้น ในสถานที่ใดๆ ว่า พวกท่านเท่านั้นจงปกครองในบ้านและนิคมนี้. ชนพวกนั้นนั่นแหละย่อมเป็นใหญ่ในบ้านและนิคมนั้นๆ.
เพราะเหตุนั้น คำว่า คณํ วา เป็นต้นนี้ ตรัสหมายเอาชนพวกนั้น.
    ก็บรรดาอิสรชนมีพระราชาเป็นต้นนี้ ภิกษุณีแม้ทูลขอพระบรมราชานุญาต หรือบอกกล่าวพวกชนมีคณะเป็นต้นแล้ว ต้องบอกกล่าวภิกษุณีสงฆ์ด้วย.
     สองบทว่า ฐเปตฺวา กปฺปํ มีความว่า เว้นหญิงผู้ได้ข้ออ้างเคยบวชแล้วในหมู่เดียรถีย์ หรือในหมู่ภิกษุณีอื่น.
คำที่เหลือตื้นทั้งนั้น.
    สิกขาบทนี้มีการให้หญิงโจรบวชเป็นสมุฏฐาน เกิดขึ้นทางวาจากับจิต สำหรับภิกษุณีผู้เมื่อพวกภิกษุณีหลีกไปด้วยกรณียะบางอย่าง ไม่ไปยังขัณฑสีมา ให้หญิงโจรบวชกับบริษัทผู้เป็นนิสิตของตน ในสถานที่ตามที่ตนนั่งอยู่นั่นแล เกิดขึ้น
    ทางกายวาจากับจิต สำหรับภิกษุณีผู้ไปยังขัณฑสีมา หรือแม่น้ำแล้วให้บวช เป็นทั้งกิริยาทั้งอกิริยาด้วยอำนาจการไม่บอกกล่าวการให้บวชเป็นสัญญาวิโมกข์ สจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ดังนี้แล. 
๑- สารตฺถทีปนี ๓/๔๐๑ ให้อรรถาธิบายว่า คณะผู้บำเพ็ญบุญกรรม มีจัดตั้งน้ำดื่มและขุดสระน้ำเป็นต้น ไว้ในที่นั้นๆ ซึ่งเป็นผู้มีความภักดี (นับถือ) พระนารายณ์ ชื่อว่า มัลลคณะ. คณะผู้มีความภักดี (นับถือ) พระกุมาร (พระบุตร) ชื่อว่า ภัททิปุตตคณะ. ๒- คณะผู้บำเพ็ญบุญกรรมมีประการต่างๆ ซึ่งมีความภักดีต่อพระศาสนา เรียกว่า ธรรมคณะ.

ไม่มีความคิดเห็น: